ขยะกำลังจะล้นโลก (ตอนที่ 1)

อ.ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

waste01.png

ที่มา: Flickr  รหัสผู้ใช้ Jritch77

 

ปัญหาขยะกำลังเป็นปัญหาสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาโลกร้อนที่ทุกประเทศกำลังเผชิญและต้องทุ่มเททรัยพากรในการจัดการปัญหาดังกล่าว นอกจากกลิ่นเหม็นรบกวนและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคแล้ว ปัญหาขยะยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางน้ำจากน้ำเสียที่รั่วไหลจากแหล่งเทกองขยะ หรือ ขยะที่ถูกฝังกลบอยู่ใต้ดิน ทำให้คุณภาแหล่งน้ำผิวดิน และ ใต้ดินแย่ลง  นอกจากนี้หากเกิดเพลิงไหม้กองขยะดังเช่นกรณีไฟไหม้กองขยะที่สมุทรปราการก็ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีขยะที่มีสารพิษปะปนอยู่ เนื่องจากไม่มีการคัดแยกขยะอย่างเหมาะสม

ปัญหาขยะนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของประชากรและการอยู่อาศัยในเขตเมืองซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ก่อให้เกิดปริมาณขยะมากกว่าการอาศัยอยู่ในชนบท การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ผลิตพยายามพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ตัวอย่างเช่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือ โทรศัพท์มือถือ ที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลก(2012)[1] รายงานว่าเมื่อปี 1990 โลกของเรา มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ประมาณ 220 ล้าน คน หรือคิดเป็น 13% ของประชากรโลก  และก่อให้เกิดขยะประมาณ 300,000 ตันต่อวัน  แต่เพียงสิบปีผ่านไป ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 พันล้านคน  หรือคิดเป็น  49% ของประชากรโลก ทำให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านตันต่อวัน และจากการประมาณการคาดว่าภายในปี 2025 ปริมาณขยะนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งหากจะฉายให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นว่ามีปริมาณขยะในแต่ละวันมากเพียงใด ก็ขอให้ท่านนึกถึงรถขนขยะที่นำมาเรียงต่อกันเป็นระยะทาง 5,000 กิโลเมตร

ภาพที่ 1. ประมาณการปริมาณการผลิตขยะของโลกต่อวัน   (หน่วย: ล้านตัน)

waste02.png

ที่มา: Hoornweg, D. & Bhada-Tata, P. What a Waste: A Global Review of Solid Waste Management (World Bank, 2012).

ธนาคารโลกได้ทำการประมาณการปริมาณขยะออกไปในปี 2100  ดังแสดงไว้ในภาพที่ 1 ซึ่งแสดงปริมาณขยะของโลกต่อวัน เส้นประสีฟ้าแสดงกรณีที่เศรษฐกิจและสังคมยังคงดำเนินไปอย่างปกติ (business-as-usual : BAU) เส้นสีแดงแสดงกรณีที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ เส้นสีเทาแสดงกรณีที่ประชากรเพิ่มขึ้นไม่มาก และมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่าในกรณี BAU ปริมาณขยะต่อวันจะเพิ่มเป็นมากกว่า 11 ล้านตันต่อวันในปี 2100 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากปัจจุบัน อย่างไรก็ดีหากเป็นกรณีที่ประชากรเพิ่มขึ้นไม่มาก และ มีมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะทำให้ ปริมาณขยะลดลงได้ 2.6 ล้านตันต่อวัน

สำหรับประเทศไทย จากการรวบรวมข้อมูลของ Thaipublica (ภาพที่ 2) พบว่าในปี 2556 ปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชนมีปริมาณมากที่สุดคือ 26.8 ล้านตัน ในจำนวนนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งมิได้ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง สำหรับของเสียอันตรายพบว่าปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนอยู่ที่ประมาณ 0.56 ล้านตันซึ่งส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนขยะมูลฝอยติดเชื้อมีประมาณ 5 หมื่นตัน  และ ขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม มีอยู่ประมาณ 3 ล้านตัน

 

 

ภาพที่ 2 ปริมาณขยะในประเทศไทย ปี 2556

waste03

ที่มา: Thaipublica (http://thaipublica.org/2014/09/thailands-garbage-crisis/)

 

เราจะสามารถแก้ปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ได้อย่างไร? มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่ใช้ทรัพยากรลดลง เช่น ภาษีผลิตภัณฑ์ หรือ การกำหนดมาตรฐานสินค้า มาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคลดการสร้างขยะ และ ส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลมากขึ้น เช่น ภาษี ภาษีรีไซเคิล หรือ ระบบการจัดเก็บเงินล่วงหน้าแล้วจ่ายคืนภายหลัง (deposit-refund) จะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด    ผู้เขียนจะขอนำเสนอในตอนถัดไป

[1] ที่มา: Hoornweg, D. & Bhada-Tata, P. What a Waste: A Global Review of Solid Waste Management (World Bank, 2012).

 

*ตีพิมพ์ลงใน จุลสารจับกระแสเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Watch) ฉบับที่ 1 | ปีที่ 1 | พ.ศ. 2558